ย้อนไปปี 2559 ยังจำได้ดีว่าตัวเองมีพลังมากมายในการทำงาน ปลายปีนั้นถึงกับให้รางวัลตัวเองด้วยตั๋วไป-กลับประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2561 ก็ได้รับข่าวว่าผลงานที่ส่งประเมินเมื่อ ธันวาคม 2559 ผ่านการประเมินแล้ว ความพยายามนำไปสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหมายแล้ว และได้บอกตัวเองว่าไม่ต้องพยายามให้มาก อยู่จุดเดิมนี้ไปได้อีกนาน
...พออยู่จุดเดิมไปสามปีกลับทะเลาะกับตัวเอง
- ปี 2562 เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ควรหยุดนิ่ง มันจะถดถอย แต่ก็ยังมีความรู้สึกหนึ่งบอกให้อยู่ตามเดิมไปก่อน
- ปี 2563 ทะเลาะกับตัวเองหนักขึ้น ถามตัวเองบ่อยๆ ว่าจะเอายังไง แต่ก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน
- ปี 2564 เริ่มต้นปีด้วยการให้โอกาสตัวเองทำในสิ่งที่รัก ทำคลิปสอนในยูทูป ก็มีกำลังใจดีดีเวลาที่มีคนขอบคุณ สามารถปล่อยผ่านความคิดเห็นเชิงลบได้ นั่นคือสิ่งที่ให้คุณค่ากับความรู้สึกตัวเองแล้ว
อีกสิ่งที่ทำในปีนี้คือ การสอบหัวหน้าฝ่าย พยายามจูงใจตัวเองให้มีแรงอ่านระเบียบ กฎหมาย ด้วยข้อดี เช่น อย่างน้อยก็จะได้รู้อะไรที่ควรรู้ แม้มันจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบก็เถอะ ทำไปด้วยความคาดหวังว่าตัวเองจะได้คำตอบอะไรบางอย่างจากการสอบ
ถ้าสอบได้ แสดงว่า สามารถเลือกที่จะก้าวไปในอีกเส้นทาง เราต้องทำได้ เราอาจจะเป็นหัวหน้าฝ่ายที่ไม่ได้ถูกใจใครนัก แต่เราคงทำงานตามหน้าที่ได้ดีพอสมควร
ถ้าสอบไม่ได้ แสดงว่า ยังเตรียมตัวไม่พอ หรือมันไม่ใช่ทาง หรืออาจจะเป็นจังหวะที่เจอคำตอบในเส้นทางเดิม (สามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในเส้นทางเดิมให้กับตัวเองได้)...
เมื่อสอบไม่ได้ ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่ความรู้สึกบอกคือ ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรเสีย ไม่เจอคำตอบใดใด ไม่ได้มีแรงฮึดสู้อีกครั้ง มันคือความรู้สึกว่างเปล่า
ทุกๆ ครั้งที่นั่งทบทวนชีวิตของตัวเองจะนึกถึง ตอนเริ่มทำงานเรามีความใฝ่ฝันสูงสุดคือ การเลื่อนระดับไปจนถึงระดับชำนาญการพิเศษ เราใช้เวลาทำงาน 12 ปี จึงทำฝันให้เป็นจริงได้ จิตใต้สำนึกพึงพอใจกับความพยายามของตัวเองเมื่อปี 2559 มาก และเหมือนกำลังพยายามกดดันตัวเองให้ตั้งเป้าหมายและพยายามอีกครั้ง แต่ไม่ว่าพยายามอย่างไรก็พบกับ ความว่างเปล่า
วันนี้ Google นำพาคำค้น "ความว่างเปล่า" ไปเจอบทความที่โดนใจสุดๆ
ภาวะว่างเปล่า (Languishing) เป็นภาวะที่ขาดแรงจูงใจ ไร้จุดมุ่งหมายในชีวิต
สาเหตุ
เกิดจากอารมณ์เหนื่อยหน่ายกับการพยายามทำบางสิ่งบางอย่างมานานแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
อาการ
- รู้สึกเนื่อย ๆ รู้สึกเหนื่อยแต่ไม่หมดไฟ เพราะยังรู้สึกอยากทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพียงแค่ยังไม่มีใจจะทำเท่านั้น
- รู้สึกไม่สนุกหรือมีความสุขเหมือนเดิมแต่ไม่ได้รู้สึกเศร้าหรือซึม
- รู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีจุดมุ่งหมายแต่ไม่ถึงกับหมดหวัง
- ประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่เหมือนเดิมแต่ไม่ถึงขั้นทำงานไม่ได้
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่) https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ภาวะว่างเปล่าปัญหาสุขภ/
ถึงว่าตอนเจอซีรีย์ #melancholia ทั้งที่กดแปลแล้วหมายถึงความโศกเศร้า แต่ด้วยความที่ชอบอิมซูจอง (ตอนที่เล่นเป็นผู้หญิงเก่งเรื่อง Search : WWW เราชอบและอินในความเก่งมาก) พออ่านแนวเรื่องก็สนใจทันที ดูไปก็อยากรู้ว่าคนเก่งๆ เขาจะผ่านวิกฤติชีวิตยังไง ที่เราชอบ #melancholia ก็คงเพราะมีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกของเราอยู่
“ใช่แล้วล่ะ ปกติอาการหดหู่หมายถึงสภาวะไร้เรี่ยวแรงและรู้สึกจมดิ่งอย่างไร้ที่สิ้นสุด แต่ถ้าเราจมดิ่งอย่างไร้ที่สิ้นสุดลงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะตกลงถึงพื้น… เรียกว่าสภาวะที่ไม่มีอะไรเลยได้ไหมนะ”
“พอทุกอย่างว่างเปล่าไปแล้ว ก็จะฝันถึงการเริ่มต้นใหม่ได้ และจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น”
https://thestandard.co/melancholia-2/
หรือในปรัชญาของญี่ปุ่น 五輪書 (go rin no sho) ที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ “คัมภีร์ 5 ห่วง” ซึ่งเขียนขึ้นโดย Miyamoto Musashi ซามูไรผู้ “ไร้พ่าย” กับการกล่าวถึงสมดุลทั้ง 5
ดิน (地) : จิตวิญญาณแห่งความ ”แข็งแกร่ง” หนักแน่น
น้ำ (水) : จิตวิญญาณของความ “ยืดหยุ่น” ปรับเปลี่ยน
ไฟ (火) : จิตวิญญาณของความ “มุ่งมั่น” มีฝัน
ลม (風) : จิตวิญญาณของความ “เปลี่ยนแปลง”
และที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ความว่าง หรือท้องฟ้า (空) : จิตวิญญาณของความ “ไร้ตัวตน”
สรรพสิ่งกลมกลืน ไร้อัตตา ไร้ตัวตน = ว่าง (สุญญตา) ไม่มีสิ่งใดทำลายได้
จุดสูงสุด เป็นการใช้ชีวิตแบบ “ไร้อัตตา”
จาก “วิถีแห่งซามูไร” (บูชิโด) ที่เอาชนะคู่ต่อสู้ กลายมาเป็น “วิถีชีวิต”
เพราะว่างจึงเกิดประโยชน์ แก้วว่าง จึงเติมน้ำได้ ห้องว่าง จึงอยู่ได้ สมองว่าง จึงเรียนรู้ได้
และไม่มีคำพูดหรือคำวิจารณ์ไหนที่จะทำร้ายเราได้นอกจากเราคิดให้เป็นเดือดเป็นร้อนใจเอง
https://missiontothemoon.co/แนวคิด-ความว่างเปล่า-แ/
ความว่างเปล่า
การเรียนรู้ในชีวิตย่อมมีประโยชน์แก่ผู้ละคลาย แต่กลับเป็นโทษกับผู้ที่ติดข้องต้องการ คนหลายคนหลงวนเวียนคิดว่า "ไม่ว่างย่อมดี" กลับอีกฟากฝั่งหนึ่งก็มีคนคิดกลับกันว่า "ว่างสิดี" ทั้งสองคำถามนี้ย่อมมีคำตอบที่ถูกเพียงหนึ่ง มิอาจเป็นสองได้ ก็เพราะความจริงนั้นมีหนึ่งเดียว สิ่งที่คุณต้องตามหาคือคำตอบว่า "ว่างกับไม่ว่างอะไรดีกว่ากัน"
คนประเภทแรกที่คิดว่าไม่ว่างย่อมดีนั้น ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนย่อมต้องหาอะไรทำตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยามเช้า ยามบ่าย และยามเย็น บางครั้งมียามก่อนนอนด้วย วันหนึ่งมี 24 ชม. จะยาวนานสำหรับเขาเสมอ เพราะต้องการอะไรให้วุ่นวายไปเสียหมดทุกอย่าง นั่งเฉย ๆ ก็เมื่อย ยืนนาน ๆ ก็เหนื่อย เดินบ่อย ๆ ก็หงุดหงิด ทุกอย่างดูจะขุ่นเคืองใจไปซะหมด
แต่อีกคนหนึ่งที่คิดว่าว่างสิดี ในชีวิตประจำวันของเขานั้นจะเต็มเต็มด้วยการให้ และใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดเพราะเริ่มรู้เริ่มเห็นแล้วว่า ชีวิตนี้ถ้ามีมากก็จะทุกข์มากตาม มีน้อยก็จะทุกข์น้อยตามไป วัน ๆ หนึ่งเขาอาจจะไม่ได้ต้องทำกิจอะไรมากมายเพียงแต่ ทุกครั้งที่กระทำอะไรสักอย่างย่อมมีความสลักสำคัญต่อตัวของเขาเอง และผู้อื่นเสมอ
https://storylog.co/story/5d57b992af8ba39f2778d03d
...
สามปีที่อยู่กับความสับสน และการตามหาคำตอบให้ตัวเอง
วันนี้..เข้าใจว่าตัวเองกำลังอยู่กับความว่างเปล่า เพราะไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนให้พุ่งชน
เมื่อดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกถดถอย ไร้พลัง รู้สึกเหนื่อยหน่าย
มีสิ่งที่อยากทำแต่ไม่มีใจที่จะลงมือทำ
นับจากนี้ก็ต้องค้นหาวิธีรับมือที่เหมาะสม
เราไม่ได้อยู่จุดที่รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกแย่กับตัวเองนะ
เราอยู่จุดที่ไม่ควรมองเป้าหมายที่สูงเกินไป หรือพยายามมากเกินไปมันเหนื่อยล้า
เราควรจะตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้หลายๆ เป้าหมาย เพื่อค่อยๆ สำเร็จไปทีละเป้าหมาย
แล้วค่อยรวบรวมความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และน่าพึงพอใจ
ตามหาแรงบันดาลใจต่อไป วันหนึ่งคงเริ่มสู้กับเป้าหมายใหม่อีกครั้ง
...
ในทางธรรมะบอกว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างคือความว่างเปล่าอยู่แล้ว...แต่ในเมื่อเราเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ก็ต้องมีโลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา ขอแค่มีสติ รู้ตัวว่าควรทำและกำลังทำอะไรอยู่ ต้องเรียนรู้และตามหาคำตอบของชีวิตต่อไปไม่สิ้นสุด จนกว่าจะหมดลมหายใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
จบปี 2564 โดยที่ยังไม่เจอคำตอบดีดีให้ตัวเอง มีคนบอกว่าทุกคนต้องเคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้..หวังเล็กๆ ว่าจะเจอคำตอบให้ตัวเองเร็วๆ นี้ และต้องมีอะไรเขียนฝากไว้แน่ๆ ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ความว่างเปล่า #2