เกษตรบำบัด ช่วยคลายเครียดได้จริงไหม

      คงไม่มีใครที่จะเปี่ยมล้นด้วยพลังตลอดเวลา..แล้วในวันที่เหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิต คุณจะเลือกทำอะไร
1. หยุดนิ่ง (ลางาน) กิน นอน อยู่กับตัวเอง
2. ดูหนัง-ซีรีส์ ฟังเพลง เศร้าๆ แล้วก็ร้องไห้
3. นัดกินข้าว เมาส์กับเพื่อนสนิท
4. ช้อปปิ้ง เปย์ตัวเองแล้วสุขใจ
5. ท่องเที่ยว ออกสู่โลกกว้าง ทะล ภูเขา ตามฤดูกาล

       ทางเลือก 5 หนทางนี้ก็คือการเลือกทำในสิ่งที่ชอบ เมื่อได้ทำตามที่ใจตัวเองต้องการก็จะรู้สึกพอใจ เรียกความสงบสุขกลับมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราได้ใช้หนทางเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง เราก็อยากมีวิธีใหม่ๆ ที่ได้ผลมากกว่า ลองมองย้อนไปในวัยเด็กก็ได้ค่ะ เราโตมาแบบไหน อะไรคือความสุขในตอนนั้น (สิ่งที่เราจำได้นั่นแหละค่ะที่เรียกว่าความสุข) สำหรับผู้เขียนเองจะนึกถึงตอนไปไร่ ไปนากับพ่อแม่ การจำได้ว่าแม่ชอบให้ลูกช่วยปลูกข้าวโพดที่ไร่ ปลูกผัก-รดน้ำที่นา ต้นบวบ ต้นฝักทอง ปลูกหน้าฝน ปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำ รอมันโตแล้วเก็บได้เลย (อันนี้ชอบมาก) ส่วนต้นมะม่วงที่รดน้ำมาตอนเด็กๆ 40 ปีผ่านไป ก็ยังเก็บผลได้ค่ะ

       ย้อนกลับมาว่า ถ้าความสุขตอนเด็กๆ คือเรื่องของการทำการเกษตร ว่าแล้วผู้เขียนก็เริ่มจากขุดดิน ทำแปลงผัก หยอดเมล็ดผักบุ้ง กวางตุ้ง รดน้ำ ผ่านไป 3-4 วัน ต้นอ่อนก็เริ่มงอกแล้ว การได้เห็นต้นอ่อนที่งอกออกมานั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้จิตใตพองโตได้ คือได้ความรู้สึกว่าเราทำได้ เราสามารถขุดแปลง ทำให้เมล็ดผักกลายเป็นต้นอ่อนได้ หลังกลับมาจากทำงานก็ยืนรดน้ำ คิดทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้น ๆ หรือวันก่อน ๆ พยายามปล่อยผ่านเรื่องที่ไม่พอใจ มองต้นผัก มองรอบ ๆ แปลง ก็เพลินตาเพลินใจ ลืมเรื่องบางเรื่องไปในช่วงเวลาหนึ่ง สร้างความผ่อนคลายได้มากค่ะ 




ผักบุ้งผ่านไปประมาณ 20 วันก็เก็บได้   


กวางตุ้งโตช้ากว่าผักบุ้ง


ต้องรอให้โต แข็งแรงหน่อย แล้วค่อยถอนต้นกล้าไปปลูกใหม่


ปลูกห่างกันประมาณ 10-20 ซม. เผื่อโตค่ะ

ตอนผักโต นอกจากความสุขจากการเก็บเกี่ยว เรายังได้ความสุขจากการทำอาหารให้คนที่เรารักทานค่ะ


นอกจากทานเองในบ้านแล้ว เรายังเก็บผักไปฝากเพื่อนบ้าน คนที่เรารัก-เคารพได้ด้วย ความสุขอยู่ที่การบอกว่า "ผักปลูกเอง เก็บได้นาน ทานให้อร่อยนะคะ" สุขและภูมิใจได้ด้วย

เริ่มเห็นด้วยแล้วใช่ไหมคะว่า การได้ดูแลและได้เห็นการเติบโตของผักช่วยบำบัดจิตใจที่เหนื่อยล้าสำหรับคนทำงานได้ค่ะ สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ให้ห้องพักไม่มีพื้นที่ก็เลือกเลี้ยงไม้กระถางได้นะคะ การได้ดูแลสิ่งมีชีวิตสีเขียวช่วยบำบัดจิตใจเราได้แน่นอนค่ะ

หลังจากเขียนบทความด้านบนแล้วสงสัยว่ามีคนคิดเห็นเหมือนกันไหม ก็ลองไปค้นหาใน Google มีคำค้นหา "เกษตรบำบัด" ในฐานข้อมูลของ Google ด้วยค่ะ เป็นการใช้เกษตรบำบัดกับกลุ่มเด็กพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วย ร.พ.จิตเวช ขอนำบางช่วงของข้อความมาฝากค่ะ

จัดสวนหินบำบัด
       
บริเวณสวนหินจะมีการใช้หินหลากหลาย มีพื้นผิวต่างๆ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ต่างๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายโดยบริเวณสวนหินบำบัด นอกจากนี้มีการจัดภูมิทัศน์เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่ดี ทั้งร่มเงาและความร่มรื่นของต้นไม้ แปลงผัก การสัมผัส ให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย พัฒนาความรู้สึกต่อตนเองไปในทางที่ดี มีความเชื่อมั่นในการเข้าสังคม

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ที่ได้ให้ไว้ว่า ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราปลูกต้นไม้และต้นไม้จะปลูกใจเรา วิถีแห่งธรรมชาติกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ควรอยู่ร่วมกัน ให้ความเป็นธรรมชาติ มีความร่มรื่น และความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่  ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของสวนบำบัด
ข้อความจาก เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 

       จากข้อความที่ค้นเจอและนำมาฝาก ผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต "ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราปลูกต้นไม้และต้นไม้จะปลูกใจเรา วิถีแห่งธรรมชาติกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ควรอยู่ร่วมกัน" ถ้าได้ลองปลูกผัก ต้นไม้ จะทำให้เราเข้าใจว่าความหมายของประโยคนี้คืออะไร สำหรับท่านที่กำลังหาหนทางในการบำบัดจิตใจที่กำลังตึงเครียด ไร้พลัง ลองปลูกสิ่งมีชีวิตสีเขียวดูนะคะ ขอให้ทุกท่านมีจิตใจและร่างกายที่แข็งแรงค่ะ